ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 การทำงานเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ชะงักไป ทั้งการหยุดงาน และเลิกจ้าง สำหรับกลุ่มคอปกที่ถูกเลิกจ้าง ที่พึ่งหนึ่ง คือ เงินชดเชยเยียวยาจากประกันสังคมแต่กฎหมายประกันสังคมมิได้ให้คอปกทุกคนเป็นผู้ประกันตนและมีสิทธิจะได้รับค่าชดเชยเยียวยา เมื่อแปลประกันสังคมเป็นภาษาอังกฤษ คำแปล Social Security มิได้สะท้อนความหมายของคำภาษาอังกฤษ และสร้างความความเข้าใจที่คาดเคลื่อน เราจึงควรทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า ประกันสังคมและSocial Security ในระบบกฎหมายไทยโดยเปรียบเทียบระบบอันเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดประกันสังคมและSocial Security กันอีกครั้ง
การประกันสังคม และ Social Security เป็นแนวคิดที่เรารับมาจากโลกยุโรป โดยมีพื้นฐานจากแนวคิดเรื่องการคุ้มครองทางสังคม ใจความของการคุ้มครองทางสังคม คือ รัฐมีหน้าที่ประกันสมาชิกในสังคมให้มีพื้นฐานความเป็นอยู่ที่มั่นคง อันเป็นสิ่งที่พึงได้รับในฐานะสมาชิกหนึ่งในสังคม
รัฐอาจคุ้มครองสมาชิกในสังคมได้โดยวิธีต่าง ๆ และมีชื่อเรียกต่างกันไป เนื่องจากระบบกฎหมายฝรั่งเศสแจกแจงวิธีต่าง ๆ ไว้ชัดเจน จึงขอยกมาใช้เพื่อความสะดวกในการอธิบาย วิธีที่รัฐอาจใช้เพื่อคุ้มครองสมาชิกในสังคมได้แก่ 1. การช่วยเหลือสังคม (L’aide sociale) คือ การให้ประโยชน์โดยไม่ได้มีการกำหนดหรือระบุให้ชัดเจนว่าใครมีสิทธิได้รับประโยชน์ 2. การกระทำทางสังคม (L’action sociale) คือ กรอบโครงสร้างทางกฎหมายที่กำหนดให้บุคคลหรือหน่วยงานมีหน้าที่ดำเนินกิจกรรต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น การให้เงินสนับสนุน การจัดหางานให้ 3. ความมั่นคงทางสังคม (La sécurité sociale) คือ องค์กรที่มุ่งคุ้มครองสมาชิกในสังคมจากความเสี่ยงทางสังคม[1] อันเป็นสิ่งเดียวกันกับ Social Security 4. การประกันสังคม (L’assurance sociale) คือ ระบบประกันภัยตามกฎหมายของลูกจ้าง และ 5. การคุ้มครองสังคม (La protection sociale) คือ วิธีใด ๆ ก็ตามที่มุ่งคุ้มครองสมาชิกในสังคมจากความเสี่ยงทางสังคม
ในระบบกฎหมายไทยเราแปลการประกันสังคมว่าSocial Securityสำนักงานประกันสังคม เราแปลว่าSocial Security Officeถ้าSocial Securityหมายถึงความมั่นคงทางสังคม การเยียวยาคอปกแค่บางกลุ่มย่อมไม่สร้างความมั่นคงทางสังคมแน่ เมื่อพิจารณาคำแปลแล้ว การแปลประกันสังคมเป็นภาษาอังกฤษว่าSocial Securityดูจะสร้างความสับสนเพราะในทางปฏิบัติประกันสังคมมิได้หมายความตามSocial Security
กล่าวคือ การประกันสังคมในระบบกฎหมายไทย คือ ระบบที่ประกอบด้วย 1. ข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์เพื่อเยียวยาบรรเทาภัยทางสังคมและ 2. สถาบันหรือองค์กรหรือบุคคลที่เกี่ยวกับการประกันสังคมตามที่กฎหมายระบุ ระบบนี้จะประกันว่าบุคคลที่มีโอกาสประสบภัยทางสังคมจะได้รับความช่วยเหลือเยียวยาบรรเทาภัย โดยบุคคลนั้นต้องทำตามและ/หรือมีสถานะตามเงื่อนไข[1] เงื่อนไขที่ว่าคือเงินสมทบที่ผู้ประกันตน เช่น กรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 33 คือ ลูกจ้างในสถานประกอบการ ลูกจ้างและนายจ้างนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน[2]
เมื่อเทียบกับนิยามการประกันสังคมตามต้นกำเนิด จะพบว่า การประกันสังคมในระบบกฎหมายไทย เป็นการผสานระหว่างแนวคิดความมั่นคงทางสังคมในกฎหมายฝรั่งเศส (La Sécurité Sociale) ในแง่ของวัตถุประสงค์ในการเยียวยาช่วยเหลือ และแนวคิดการประกันสังคม (L’assurance sociale) ในแง่การบริหารจัดการที่มีการเรียกเก็บเงินสมทบจากสมาชิกผู้มีสิทธิรับประโยชน์ การใช้คำว่า Social Security นั้นก็เพื่อสะท้อนจุดมุ่งหมายของระบบประกันสังคมที่มุ่งให้เกิดความมั่นคงในสังคม แต่การประกันสังคมยังคงเป็นสิทธิที่ได้มาตามเงื่อนไขอยู่
ดังนี้แล้วการแปลคำว่า ประกันสังคม เป็น Social Security บดบังมิติทางด้านการคุ้มครองโดยให้เปล่าอันเป็นการรักษาสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของคอปกในคำภาษาตะวันตก อันเป็นสิทธิที่ไม่ควรต้องแลกเปลี่ยนด้วยเงื่อนไขใด ๆ ประกันสังคม แม้จะมีวัตถุประสงค์ในการเยียวยาช่วยเหลือเพื่อให้เกิดความมั่นคงในสังคม ควรแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Social Insurance หรือ L’assurance sociale เพื่อรักษาความหมายว่าผู้ประกันตนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขบางอย่าง และสร้าง Social Security และแปลโดยรักษาความหมายว่าเป็นการคุ้มครองบุคคลในฐานะสมาชิกในสังคม ว่า ความมั่นคงทางสังคม
เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว เราจึงอาจกล้าวทิ้งท้ายได้ว่า คอปกที่มิได้เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมาย แม้มิได้เป็นสมาชิกประกันสังคม ก็ย่อมต้องมี Social Security หรือความมั่นคงทางสังคมเป็นพื้นฐาน ทั้งนี้การประกันสังคมและการจัดสวัสดิการมิอาจเป็นบทบาทของรัฐฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่เป็นบทบาทของทุกฝ่าย ซึ่งมีส่วนกำหนดและสร้างความมั่นคงทางสังคมให้แก่ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคอปกหรือภาคส่วนต่าง ๆ
[1] โดยเหตุ 8 ประการได้แก่ การเจ็บป่วยและประสบอันตราย การตั้งครรภ์ คลอดและเลี้ยงดูบุตร (สิทธิแห่งมารดา) การทุพพลภาพ การชราภาพ อุบัติเหตุและโรคจากการทำการงาน การตาย สิทธิที่เกี่ยวกับการเป็นครอบครัว และการว่างงาน Michel Borgetto et Robert lafore, Droit de l’aide et de l’action sociales, Montchrestien, 6ème , 2006, p. 3.
[2] วิจิตรา ฟุ้งลดา วิเชียรชม, หน่วยที่ 7 กฎหมายประกันสังคม, เอกสารการสอนชุดวิชา กฎหมายแรงงาน หน่วยที่ 1-7, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, พิมพ์ คร้ังที่7, 2552, หน้า 412.
[3] รัฐจะร่วมจ่ายสมทบจำนวนเงินส่วนนี้และจัดสรรสัดส่วนตามสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ผู้ประกันตนแต่ละประเภทจะได้รับ รายละเอียด ติดตามได้ในสัปดาห์ที่ 26 ต.ค. – 1 พ.ย. 2563
Comments